ถ้าไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้ จะมีผลอย่างไร

หากพูดถึงแสตมป์ หลายคนก็ต้องนึกถึงแสตมป์ที่ใช้สำหรับการส่งไปรษณีย์ แต่รู้หรือไม่ว่าแสตมป์ยังถูกใช้เป็นสิ่งเรียกเก็บภาษีในอีกรูปแบบหนึ่งได้อีกด้วย โดยมีการใช้ชื่อเรียกว่า แสตมป์อากร โดยแสตมป์อากรนี้มีวิธีการใช้งานที่ต่างออกไปจากแสตมป์ทั่วไป แถมยังไม่สามารถใช้แทนกันได้อีกด้วย โดยจุดเด่นของของอากรแสตมป์ก็คือ เมื่อใช้งานแล้วจะต้องขีดคร่อมบนแสตมป์จึงจะถือว่าใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
อากรแสตมป์ (Stamp Duty) เป็นภาษีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการจัดเก็บโดยรัฐบาลผ่านทางตราสาร(เอกสารแสดงสิทธิ์ต่าง ๆ ) หรือ ในรูปแบบสัญญา ภาระภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำตราสารหรือสัญญานั้นเสร็จสมบูรณ์ หมายถึง ได้ลงลายมือชื่อคู่สัญญากันเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยการเสียอากรแสตมป์จะต้องมีการชำระภายในระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่กระทำตราสารเสร็จสมบูรณ์ และต้องจัดเก็บจากการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ที่มีการกำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ตัวอย่าง ตราสารหรือสัญญาที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามกำหนดของกฎหมาย
- ตราสารหรือสัญญาที่ทำในประเทศไทย
- ตราสารหรือสัญญาที่ทำในต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาในประเทศไทย (ต้องเสียอากรภายใน 30 วัน)
- สัญญาร่วมลงทุน
- สัญญากู้ยืมเงิน
- สัญญาเช่าที่ดิน
- สัญญาค้ำประกัน
- สัญญาจ้างทำของ
- สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
หากไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้ จะมีผลต่อการทำให้ศาลยกฟ้องจนแพ้คดีหรือไม่ ?
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561
โจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์จึงนำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน ซึ่งสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ได้ปิดอากรแสตมป์ไว้อย่างครบถ้วน ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่กลับไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าว ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ และไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
จึงเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง รวมถึงปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคจึงมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง
สรุปแล้วการไม่ได้ขีดคร่อมอากรแสตมป์ จึงถือว่าสัญญากู้เงินไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ และไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญนั่นเอง