ผู้ผลิต คืออะไร ?

ปัจจัยในการทำธุรกิจนั้น จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากขาดปัจจัยการผลิตไป เพราะผลิตภัณฑ์ในการสร้างกำไรให้กับกิจการ จำเป็นจะต้องมีกระบวนการผลิต คอยสนับสนุนให้สินค้าออกมาเป็นรูปเป็นร่างสามารถจับต้องและนำไปใช้ได้ โดยคำว่า ผู้ผลิต ในทาง เศรษฐศาสตร์ นั้นหมายถึง ผู้มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพยากรอันจำเป็นมาสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้ออกมาเป็นผลที่ใช้ได้ไม่ว่าจะสินค้าหรือบริการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก
ผู้ผลิตหมายถึงอะไร
ผู้ผลิตหมายถึง ผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ และนำปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดมาผ่านกระบวนการผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เวลา แรงงาน ที่ดิน ต้นทุนและผู้ประกอบการเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการในประเภทเศรษฐทรัพย์ สำหรับสร้างกำไรให้แก่ธุรกิจของตน
ปัจจัยในการผลิต
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผลิตนั้นก็คือ ทรัพยากร โดยปัจจัยการผลิตนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ปัจจัยหลักดังนี้
1.ทุน
หมายถึงสิ่งที่สนับสนุนต่อการผลิตให้เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่
- เครื่องมือการผลิต เช่น เครื่องจักร และ อุปกรณ์
- วัตถุดิบ เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า แร่ น้ำ เนื้อสัตว์ สารเคมี
- สถานที่ซึ่งมีไว้ในการใช้ผลิต เช่น โรงงาน หรือ นิคมอุตสาหกรรม
- พาหนะขนส่ง เช่น รถกระบะ รถบรรทุก เรือ รถไฟ เครื่องบิน
2.ที่ดิน
หมายถึงสถานที่สำหรับใช้ในการผลิต ตัวอย่างเช่น การเกษตร ที่ต้องใช้ที่ดินในการ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ปลูกพืชต่าง ๆ ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ที่ดินในการตั้งโรงงาน
3.แรงงาน
นับตั้งแต่กำลังทางกายไปจนถึงกำลังทางความคิดที่ใช้เพื่อการผลิต
4.ประกอบการ
หมายถึงผู้นำที่รวบรวมปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ทั้ง ทุน ที่ดิน แรงงาน มาจัดการให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกัน โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อสนองความต้องการต่อผู้บริโภค
บทบาทของผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพ
1.มีจรรยาบรรณ
ผู้ผลิตที่มีคุณภาพจะต้องมีพื้นฐานการเริ่มต้นด้วยจรรยาบรรณที่ดี ทั้ง มีจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์สินค้าที่มีคุณภาพ ให้ถึงมือผู้บริโภค กำหนดราคาที่ไม่เอาเปรียบต่อผู้บริโภค ไม่คิดหลอกลวง รวมถึงยังสามารถยอมรับและรับฟังในจุดบกพร่องที่ได้รับการกล่าวตักเตือนได้
2.มีความรับผิดชอบ
เป็นผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือจะต้องมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่ใช้อย่างสิ้นเปลือง และในการผลิตนั้นจะต้องเป็นการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังต้องรู้จักฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่วนรวมอีกด้วย
3.วางแผนก่อนการลงมือเสมอ
เพื่อให้การผลิตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพราบรื่น จึงจำเป็นจะต้องมีกระบวนการวางแผนให้รอบคอบเสียก่อน ไม่ว่าจากการศึกษาขั้นตอนการผลิตทุกด้าน มีการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค การตรวจสอบเช็คสภาพและวางขั้นตอนการผลิต ให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ได้ผลและปลอดภัย
4. มีทัศนคติในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญต่อตัวผู้ผลิตเอง ไปจนถึงคนรอบข้าง เพื่อให้มีทรัพยากรเหลือใช้ได้อย่างเพียงพอในอนาคต ทั้งการปฏิบัติการใช้ทรัพยากรในการผลิต การศึกษาและมองหาแนวทางเพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด